ประวัติยูเครน

kiev in ukraine

    ยูเครน เป็นประเทศในยุโรปตะวันออก มีอาณาเขตทางตะวันออกติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทางเหนือติดต่อกับเบลารุส ทางตะวันตกติดต่อกับโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี ทางตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับโรมาเนียและมอลโดวา ทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้จรดทะเลดำและทะเลอะซอฟตามลำดับ ยูเครนมีพื้นที่ 603,628 กม.2 ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในทวีปยุโรปทั้งหมด

    พื้นที่ประเทศยูเครนในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมสลาฟตะวันออกในยุคกลาง ซึ่งส่งผลให้เกิดรัฐที่มีอำนาจในแถบนั้นในชื่อ เคียฟรุส อีกหลายศตวรรษหลังจากนั้นจึงถูกแบ่งไประหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะรัสเซีย โปแลนด์ และจักรวรรดิออตโตมัน โดยมีเอกราชระยะสั้น ๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2460-2464 อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติรัสเซีย จากนั้นได้กลายเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2465 ชายแดนในปัจจุบันเพิ่งได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2497 ยูเครนเป็นเอกราชอีกครั้งหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2534

    ยูเครนเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของโลกมาช้านานเนื่องจากสภาพอันอุดมสมบูรณ์ ในปี 2554 ยูเครนเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยผลการเก็บเกี่ยวในปีนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยด้วย ยูเครนติดหนึ่งในสิบเขตการได้มาซึ่งที่ดินการเกษตรที่น่าดึงดูดที่สุด นอกเหนือจากนี้ ยูเครนยังมีภาคการผลิตที่พัฒนาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอวกาศและอุปกรณ์อุตสาหกรรม

kiev

    ยูเครนเป็นรัฐเดี่ยว ประกอบด้วย 24 จังหวัด สาธารณรัฐปกครองตนเอง (ไครเมีย) และนครซึ่งมีสถานภาพพิเศษ คือ เคียฟ เมืองหลวงและนครใหญ่ที่สุด และเซวัสโตปอลซึ่งเป็นที่ตั้งของกองเรือทะเลดำรัสเซียภายใต้ความตกลงเช่า ยูเครนเป็นสาธารณรัฐในระบบกึ่งประธานาธิบดี โดยฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการแยกกัน นับแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ยูเครนยังเป็นประเทศที่มีทหารมากเป็นอันดับสองในยุโรป รองจากรัสเซีย หากคิดรวมกำลังพลที่เป็นกำลังสำรองและกำลังกึ่งทหารด้วย

    ยูเครนมีประชากร 44.6 ล้านคน 77.8% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ยูเครน โดยมีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์รัสเซีย (17%) เบลารุสและโรมาเนียพอสมควร ภาษายูเครนเป็นภาษาราชการ ภาษารัสเซียเป็นภาษาที่สอง ศาสนาหลักของประเทศ คือ ศาสนาคริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อสถาปัตยกรรม วรรณกรรมและดนตรียูเครน

สมัยประวัติศาสตร์

    ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาว Nomad โดยเฉพาะชาว Scythian เป็นพวกแรกที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในยูเครนในช่วงก่อนคริสตกาล หลังจากนั้น ชาวเผ่าสลาฟได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลางและตะวันออกของยูเครน อย่างไรก็ดี ชนชาติสำคัญที่มีบทบาทในการรวบรวมดินแดนบริเวณนี้ให้เป็นปึกแผ่นคือชาวรุส (Rus) ที่มาจากสแกนดิเนเวีย โดยต่อมาชาวรุสได้สถาปนาอาณาจักร Kievan Rus ขึ้นในศตวรรษที่ 6 และปกครองชาวสลาฟที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ และต่อมาได้ขยายดินแดนออกไปรวบรวมเผ่าสลาฟและชนชาติต่างๆ จนเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในศตวรรษที่ 11 แต่ในศตวรรษที่ 12 อาณาจักรนี้ได้เสื่อมสลายลง เนื่องจากสงครามระหว่างเจ้าผู้ครองนครต่างๆ และการรุกรานจากชาวมองโกลในศตวรรษต่อมา หลังจากนั้น ดินแดนบางส่วนของยูเครนได้ถูกผนวกรวมกับอาณาจักรต่างๆ อาทิ ลิทัวเนีย โปแลนด์ ออสโตร – ฮังกาเรียน และรัสเซีย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

    หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยูเครนได้ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิรัสเซียและราชวงศ์ฮับสบวร์กเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1918 แต่ต่อมากระแสการปฏิวัติในรัสเซียได้ลุกลามมายังยูเครน ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น หลังจากนั้น ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนได้ถูกผนวกรวมกับโปแลนด์ ในขณะที่ดินแดนตอนกลางและตะวันออกถูกผนวกรวมกับรัสเซียในฐานะ Ukrainian Soviet Socialist Republic ในปีค.ศ.1922 ภายใต้ระบอบสหภาพโซเวียต ชาวยูเครนถูกบังคับให้เลิกใช้ภาษาของตนเอง นอกจากนี้ ในช่วงปี ค.ศ. 1932-1933 ประธานาธิบดีสตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต ยังได้ใช้มาตรการ “ Holodomor” (Famine) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระบบนารวมของสหภาพโซเวียตกับชาวยูเครน อันส่งผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและการขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วประเทศ และชาวยูเครนกว่า 7 ล้านคนต้องเสียชีวิตลง ชาวนาและปัญญาชนที่ต่อต้านระบบดังกล่าวถูกกวาดล้างหรือเนรเทศไปยังไซบีเรีย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

    ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยูเครนให้การสนับสนุนกองทัพของนาซีเยอรมัน เพื่อเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต แต่ต่อมาได้หันไปต่อต้าน เนื่องจากกองทัพเยอรมันปกครองอย่างกดขี่และทารุณ โดยในช่วงดังกล่าว ชาวยิวในยูเครนกว่า 1 ล้านคนถูกสังหารหมู่และ กรุงเคียฟ ถูกเผาทำลาย อย่างไรก็ดี หลังจากที่กองทัพนาซีบุกโปแลนด์ในปีค.ศ.1939 ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนที่เดิมอยู่ภายใต้โปแลนด์ได้ถูกผนวกรวมกับสหภาพโซเวียต

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

    การประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระแสชาตินิยมในยูเครนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ได้แก่ ความไร้ประสิทธิภาพของระบบสหภาพโซเวียต ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วสหภาพโซเวียตและการพยายามปิดบังข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพโซเวียตต่อกรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู Chernobyl ที่ตั้งอยู่ในยูเครนในปีค.ศ.1986 และเมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางการเมือง ได้ส่งผลให้รัฐบาลของสหภาพโซเวียตจำเป็นต้องให้อำนาจแก่สาธารณรัฐและดินแดนปกครองตนเองต่างๆ มากขึ้น กระแสการเรียกร้องสิทธิที่จะปกครองตนเองในยูเครนดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง และในที่สุดยูเครนได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1991 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1991 ชาวยูเครนได้ลงประชามติให้ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต

ที่มา : www.tiewrussia.com , wikipedia